การทำ ICSI หรือที่เรียกว่า “อิ๊กซี่” เป็นกระบวนการทำเด็กหลอดแก้วแบบหนึ่ง ที่ช่วยแก้ปัญหาภาวะมีบุตรยากทั้งจากฝ่ายหญิงและฝ่ายชายได้ดีมาก ทั้งยังเป็นวิธีการแก้ปัญหาภาวะมีบุตรยากที่ทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์สำเร็จสูงที่สุดอีกด้วย แล้ว ICSI คืออะไร? มีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง?
ในบทความนี้ ทีม BNH จะมาให้ความรู้และตอบทุกคำถามเกี่ยวกับการทำเด็กหลอดแก้ว ICSI
อิ๊กซี่ ICSI คืออะไร
อิ๊กซี่ หรือ ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection) คือวิธีการทำเด็กหลอดแก้ว ที่จะคัดเลือกตัวอสุจิ (Sperm) ที่แข็งแรง สมบูรณ์ที่สุด 1 ตัว เพื่อผสมกับไข่ (Ovum) 1 ใบ จนเกิดเป็นตัวอ่อน (Blastocyst) ซึ่งจะผสมไข่กับอสุจิโดยการใช้เข็มขนาดเล็กฉีดอสุจิเข้าไปที่ไข่โดยตรงภายใต้กล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูง ทำให้เกิดการผสมที่แน่นอนมากกว่าวิธีการผสมตัวอ่อนวิธีอื่นๆ
เมื่อได้ตัวอ่อนแล้ว จะเพาะเลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการเป็นเวลาประมาณ 5 วัน จากนั้นจึงย้ายตัวอ่อนเข้าไปที่โพรงมดลูก เพื่อให้ตัวอ่อนฝังตัวที่เยื่อบุผนังมดลูก และเติบโตเป็นทารกในครรภ์ (Fetus) ต่อไป
อิ๊กซี่ (ICSI) กับ IVF แตกต่างกันอย่างไรบ้าง
IVF คืออะไร? IVF (In-Vitro Fertilization) คือการทำเด็กหลอดแก้วอย่างหนึ่ง ที่มีขั้นตอนทุกอย่างเหมือนกันกับการทำ ICSI เพียงแต่แตกต่างกันที่ขั้นตอนการปฏิสนธิ เพราะ IVF ไม่ได้ใช้อสุจิฉีดเข้าไปในไข่อย่างเฉพาะเจาะจง แต่เป็นการนำไข่และอสุจิหลายตัวมาไว้ในพื้นที่เดียวกัน และให้อสุจิที่ผ่านการคัดเลือกแล้วแข่งกันเจาะไข่เพื่อปฏิสนธิเองตามธรรมชาติ
แล้วการทำ ICSI vs IVF อะไรดีกว่ากัน? การทำอิ๊กซี่หรือ ICSI นั้นดีกว่าการทำ IVF เนื่องจากโอกาสทำ IVF สำเร็จนั้นมีน้อยกว่า ขั้นตอนของการทำเด็กหลอดแก้วทั้งสองชนิดต่างกันแค่ที่วิธีการปฏิสนธิก็จริง แต่การปล่อยให้อสุจิผสมกับไข่เองของ IVF อาจผิดพลาดได้จากหลายสาเหตุ
ข้อผิดพลาดโดยส่วนใหญ่มาจากการที่ไข่จากฝ่ายหญิงอาจจะหนาเกินไป หรือจากเหตุผลอื่นๆ ที่ทำให้อสุจิไม่สามารถเจาะเข้าไปในไข่เพื่อปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนได้ การฉีดอสุจิเข้าไปโดยตรงด้วยวิธีการทำ ICSI จึงสามารถเพิ่มโอกาสปฏิสนธิสำเร็จได้มากกว่า
ทำไมถึงต้องทำ ICSI
การทำ ICSI เป็นการแก้ปัญหามีบุตรยาก จากทั้งทางฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย โดยคู่สมรสที่ควรทำ ICSI ได้แก่
- ฝ่ายหญิงเกิดภาวะมีบุตรยาก (Infertility) อย่างเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดปกติ (Endometriosis), ท่อนำไข่ตันหรือเสียหาย (Fallopian tube damage or blockage), ภาวะตกไข่ผิดปกติ (Ovulation disorders), มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ หรือจากสาเหตุอื่นๆ
- ฝ่ายหญิงผ่านการทำหมัน (Female sterilization) ด้วยการผูกท่อนำไข่ ตัดท่อนำไข่ หรือทำให้ท่อนำไข่อุดตัน
- ฝ่ายหญิงมีอายุมากกว่า 35 ปี ซึ่งอาจมีผลต่อปริมาณของไข่ คุณภาพของไข่ และผู้หญิงอายุมากอาจจะมีผนังไข่ที่หนากว่าปกติ อสุจิเจาะเข้าไปในไข่ไม่ได้ ทำให้ไม่สามารถปฏิสนธิด้วยวิธีการอื่นได้นอกจากการทำ ICSI
- ฝ่ายชายที่มีปัญหาเกี่ยวกับน้ำเชื้อทั้งเรื่องคุณภาพ ปริมาณ รูปร่าง โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาอสุจิเคลื่อนไหวไม่ดี (Abnormal sperm production or function)
- ฝ่ายชายที่ทำหมัน (Vasectomy) ด้วยการผูกท่อนำน้ำอสุจิไปแล้ว
- คู่สมรสที่ลองใช้วิธีแก้ปัญหามีบุตรยากด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การนับวันมีเพศสัมพันธ์ การทำ IVF และ IUI แล้วไม่สำเร็จ
- ผู้ที่ต้องการตั้งครรภ์จากไข่ที่ฝากไข่ไว้ (Oocyte Cryopreservation)
โอกาสสำเร็จมากแค่ไหนสำหรับ ICSI (Success Rate)
การทำอิ๊กซี่ เป็นวิธีการทำเด็กหลอดแก้วที่ได้ผลดีมากที่สุด โอกาสสำเร็จจึงมีสูงที่สุดเมื่อเทียบกับวิธีการแก้ปัญหามีบุตรยากแบบอื่นๆ
โอกาสปฏิสนธิสำเร็จของการทำ ICSI อยู่ที่ 50 – 80% ซึ่งนับว่าสูงมาก หลายคนอาจคิดว่าการฉีดอสุจิเข้าไปในไข่โดยตรงควรจะให้ผลการปฏิสนธิได้ 100% แต่ในความเป็นจริงแล้วการที่อสุจิถูกฉีดเข้าไปในไข่ บางกรณีเซลล์ไข่อาจไม่ได้แบ่งตัวและกลายเป็นตัวอ่อน ทำให้โอกาสการผสมยังคงไม่ถึง 100% แต่ก็ยังมีโอกาสสูงกว่าการทำ IVF
ส่วนโอกาสตั้งครรภ์สำเร็จจะขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของฝ่ายหญิงเป็นส่วนใหญ่ ยิ่งอายุมาก มดลูกเสื่อม โอกาสที่จะตั้งครรภ์สำเร็จก็จะยิ่งน้อยลง โดยผู้ที่อายุไม่เกิน 35 ปี โอกาสตั้งครรภ์สำเร็จจะอยู่ที่ 30 – 40% โอกาสจะลดลงเรื่อยๆตามอายุ เมื่ออายุเกิน 40 ปี โอกาสตั้งครรภ์จะอยู่ที่ 10 – 20% เท่านั้น นอกจากนี้ก็จะขึ้นอยู่กับคุณภาพตัวอ่อน และสุขภาพของคุณแม่ที่อุ้มท้อง
ทั้งนี้ โอกาสตั้งครรภ์สำเร็จสามารถเพิ่มขึ้นได้หากเข้ารับการรักษาภาวะมีบุตรยาก และเลือกทำเด็กหลอดแก้ว ICSI ที่โรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน มีแพทย์เฉพาะทางด้านมีบุตรยาก นักเพาะเลี้ยงตัวอ่อนที่มีประสบการณ์ ดังนั้นการเลือกโรงพยาบาลสำหรับทำ ICSI จึงสำคัญมาก
ดูรายละเอียดเกี่ยวกับศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากที่แนะนำประสานงานโดย โรงพยาบาลบีเอ็นเอช :https://wellnesshealth.club
แนะนำประสานงานโดยทีมงาน โรงพยาบาลบีเอ็นเอช
ที่มีประสบการณ์ดูแลกลุ่มคนไข้ภาวะมีบุตรยากนานกว่า 15 ปี
วิธีการเตรียมตัวสำหรับการทำ ICSI
การเตรียมตัวก่อนการทำ ICSI เป็นอีกขั้นตอนที่สำคัญมากที่สุดอีกขั้นตอนหนึ่ง เนื่องจากคุณภาพของไข่และอสุจิ จะขึ้นอยู่กับขั้นตอนการเตรียมตัว ยิ่งทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงเตรียมตัวดีมากเท่าไหร่ คุณภาพของไข่และอสุจิยิ่งดีมากเท่านั้น โอกาสปฏิสนธิและโอกาสตั้งครรภ์ก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย
การเตรียมตัว ฝ่ายหญิง
วิธีการเตรียมตัวเพื่อปรับปรุงคุณภาพของไข่สำหรับการทำ ICSI และทำให้ร่างกายพร้อมกับการตั้งครรภ์ มีข้อควรปฏิบัติดังนี้
- ปรับเปลี่ยน Lifestyle
- เน้นทานอาหารที่มีโปรตีนสูง ทานผักผลไม้ให้มากขึ้น ลดอาหารที่มีไขมัน แป้ง และน้ำตาลสูง ควรงดอาหารแปรรูป เน้นทานอาหารที่มีประโยชน์ ปรุงสดใหม่เป็นหลัก
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เน้นไปที่การทำคาร์ดิโอ (Cardio Exercise) เช่น การวิ่ง การเดินเร็ว การปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิก เพราะจะทำให้หัวใจทำงานได้ดีขึ้น เลือดสูบฉีดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงรังไข่ได้อย่างทั่วถึง
ซึ่งการควรออกกำลังกายควรทำต่อเนื่องครั้งละประมาณ 30 – 45 นาที อย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 – 4 ครั้ง - นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ควรเข้านอนก่อนเวลา 5 ทุ่ม และนอนเป็นเวลา 6 – 7 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ หลั่งฮอร์โมนที่สำคัญและจำเป็นออกมาอย่างเป็นปกติ
- ทานวิตามินหรืออาหารเสริมตามที่แพทย์แนะนำ
ในขั้นตอนการพบแพทย์ ก่อนการเก็บไข่ และการตั้งครรภ์ แพทย์จะแนะนำให้ทานวิตามินและอาหารเสริมบางอย่าง เพื่อให้ร่างกายพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ ลดความเสี่ยงที่อาจเกิดกับทารก และทำให้คุณภาพของไข่ดีขึ้นได้บ้างเล็กน้อย
ซึ่งแต่ละบุคคลควรทานวิตามินที่แตกต่างกันออกไปตามปัญหาของตน โดยแพทย์จะเป็นผู้แนะนำให้ ส่วนวิตามินและอาหารเสริมที่แพทย์นิยมแนะนำให้ทานอยู่แล้ว ได้แก่
- กรดโฟลิค (Folic acid) – ช่วยลดโอกาสที่ทารกในครรภ์จะพิการ และลดความผิดปกติเกี่ยวกับหลอดเลือดสมองของทารก
- แอสตาแซนทีน (Astaxanthin), โคเอนไซม์คิวเทน (Coenzyme Q10), วิตามินซี (Vitamin C) และ วิตามินอี (Vitamin E) – ช่วยเพิ่มคุณภาพของไข่ สามารถเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้
ข้อควรระวัง : ขณะปรึกษาแพทย์เพื่อเตรียมตัวสำหรับทำ ICSI ควรแจ้งแพทย์ด้วยในกรณีที่มีโรคประจำตัว หรือกำลังใช้ยาตัวใดอยู่เป็นประจำบ้าง เนื่องจากอาจมีผลต่อการตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ได้
การเตรียมตัวฝ่ายชาย
การเตรียมตัวของฝ่ายชายก่อนการทำ ICSI มีจุดประสงค์เพื่อปรับปรุงคุณภาพอสุจิ เพื่อให้มีโอกาสปฏิสนธิได้มากขึ้น โดยวิธีการเตรียมตัวของฝ่ายชายนั้นไม่ได้ต่างจากฝ่ายหญิงมากนักในเรื่องของการปรับเปลี่ยน Lifestyle
ฝ่ายชายควรทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นทานโปรตีน ลดไขมัน แห้ง น้ำตาล และอาหารแปรรูป รวมทั้งควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเช่นเดียวกันกับฝ่ายหญิง สิ่งที่แตกต่างกันคือฝ่ายชายควรระวังการออกกำลังกายที่อาจมีกระทบกระแทกที่อวัยวะเพศ เนื่องจากอาจทำให้อัณฑะบาดเจ็บ จนส่งผลให้คุณภาพของน้ำเชื้อลดลงได้
ในเรื่องการทานวิตามิน วิตามินที่แพทย์มักแนะนำให้ฝ่ายชายทานเพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำเชื้อ ได้แก่ แอสตาแซนทีน (Astaxanthin), โคเอนไซม์คิวเทน (Coenzyme Q10), และสังกะสี (Zinc) ซึ่งสามารถเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้
ขั้นตอนการทำ ICSI
ขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธีการ ICSI มีขั้นตอนหลัก 6 ขั้นตอน ดังนี้
1.ระยะเตรียมความพร้อม Preparation Stage
ในระยะการเตรียมความพร้อม แพทย์จะตรวจร่างกายของทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง เพื่อตรวจว่าร่างกายของทั้งสองฝ่ายพร้อมต่อการเก็บไข่ เก็บอสุจิ และพร้อมต่อการตั้งครรภ์หรือไม่ โดยสิ่งที่ต้องตรวจตามโปรแกรมการทำ ICSI มีดังนี้
- การตรวจเตรียมพร้อมในฝ่ายหญิง
- ตรวจเลือดทั่วไป พร้อมโรคต่างๆ
- ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count หรือ CBC)
- ตรวจหมู่เลือด (Blood group and Rh group)
- ตรวจเชื้อ HIV (Anti HIV)
- ตรวจเชื้อซิฟิลิส (Venereal Disease Research Laboratory test หรือ VDRL)
- ตรวจไวรัสตับอักเสบ (HBsAg และ Anti HCV)
- ตรวจโรคหัดเยอรมัน (Rubella IgG)
- ตรวจโรคธาลัสซีเมีย (Hemoglobin typing)
- ตรวจเลือดวัดระดับฮอร์โมนของรังไข่ ในวันที่ 2 ของการมีประจำเดือน ซึ่งจะตรวจทั้งฮอร์โมน E2, LH, FSH, และ PRL
- ตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด (Transvaginal Ultrasound หรือ TVS)
- วัดระดับฮอร์โมนที่บ่งบอกปริมาณสำรองของไข่ที่เหลืออยู่ในรังไข่ (Anti Mullerian Hormones หรือ AMH)
- ตรวจเลือดทั่วไป พร้อมโรคต่างๆ
- การตรวจเตรียมพร้อมในฝ่ายชาย
- ตรวจเลือดทั่วไป พร้อมโรคต่างๆ เหมือนกับฝ่ายหญิง จะตรวจก่อนการเก็บน้ำเชื้อ
- ตรวจคุณภาพเชื้ออสุจิ รวมทั้งเปอร์เซ็นต์การแตกตัวของ DNA (Sperm Count and DNA Fragmentation) ก่อนการเก็บอสุจิ ควรงดการหลั่งประมาณ 3 – 7 วัน เพราะจะเป็นช่วงที่น้ำเชื้อไม่เก่าเกินไป และมีปริมาณมากเพียงพอ
หลังการตรวจและพบแพทย์แล้ว ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของการทำ ICSI ต่อไป
2.การกระตุ้นให้ไข่ตก Ovulation Induction (OI)
ขั้นตอนการกระตุ้นไข่ ทำเพื่อให้ไข่ในรังไข่ของฝ่ายหญิงโตขึ้นจนได้ขนาดที่พอเหมาะ ให้สามารถนำออกมาผสมกับอสุจิได้
โดยการกระตุ้นไข่ตกจะเริ่มทำวันที่ 2 หรือ 3 ของรอบประจำเดือน นับตั้งแต่วันที่ประจำเดือนมาเป็นวันแรก ฝ่ายหญิงต้องมาพบแพทย์เพื่ออัลตราซาวด์ แพทย์จะดูว่ามีไข่กี่ใบ ขนาดเท่าไหร่ รวมทั้งเจาะเลือดเพื่อดูระดับฮอร์โมน FSH และฮอร์โมน LH ว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือไม่
ถ้าสภาพไข่และสภาพร่างกายเหมาะสม แพทย์จะเริ่มกระตุ้นไข่โดยการฉีดยากระตุ้นไข่ตกใต้ผิวหนังที่หน้าท้อง โดยยาที่ต้องใช้ตลอดการกระตุ้นไข่ มีดังนี้
- ยากระตุ้นไข่ตก (Medications for ovarian stimulation) ที่จะเพิ่มฮอร์โมน FSH และ LH ช่วยให้ไข่เจริญและโตขึ้น จนกว่าจะมีขนาดที่เหมาะสมต่อการปฏิสนธิ ตัวอย่างยากระตุ้นไข่ตก เช่น Gonal, Puregon, และ Pergoveris
- ยาป้องกันไม่ให้ไข่ตกก่อนเวลา (Medications to prevent premature ovulation) ตัวยาที่ใช้คือ Orgalutran
การฉีดยากระตุ้นไข่ จะต้องฉีดเป็นประจำประมาณ 8 – 10 วัน ขึ้นอยู่กับว่าไข่โตช้า หรือโตเร็วแค่ไหน ระหว่างนี้ต้องมาพบแพทย์ 2 – 3 ครั้งเพื่อติดตามการเจริญเติบโตของไข่ด้วยการทำอัลตราซาวด์และเจาะเลือด เมื่อได้ขนาดของไข่ที่เหมาะสมแล้ว จึงจะฉีดยาให้ไข่ตก และเก็บไข่เพื่อนำไปผสมต่อไป
3.การเก็บไข่ Egg Retrieval
เมื่อไข่ในรังไข่ได้ขนาดแล้ว แพทย์จะฉีดยาเพื่อให้ไข่ตก (Medications for oocyte maturation) เป็นยาที่จะเพิ่มฮอร์โมน HCG ทำให้ไข่ของเพศหญิงพร้อมสำหรับการเก็บไข่ ตัวอย่างยา เช่น Ovidrel, Diphereline, และ Cetrotide หลังจากฉีดยาให้ไข่ตกแล้ว ผ่านไป 36 ชั่วโมงจึงจะเก็บไข่ได้
การนำไข่ออกจากรังไข่ มีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า “Oocyte retrieval” ในวันที่เก็บไข่ ฝ่ายหญิงจะต้องงดน้ำและอาหารเป็นเวลา 8 ชั่วโมง หลังจากนั้นแพทย์จะเก็บไข่ในห้องผ่าตัด โดยการให้วิสัญญีแพทย์ให้ยาสลบอ่อนๆ ใช้อัลตราซาวด์ดูตำแหน่งไข่ และใช้วิธีการดูดไข่ผ่านช่องคลอด เมื่อดูดไข่ออกมาจนครบทุกใบแล้วจึงจบกระบวนการ ซึ่งกระบวนการเก็บไข่ทั้งหมดใช้เวลาเพียง 15 – 20 นาทีเท่านั้น
4.การเก็บน้ำเชื้อ Sperm Retrieval
การเก็บน้ำเชื้อมักทำวันเดียวกันกับวันที่ฝ่ายหญิงมาเก็บไข่ ส่วนใหญ่แพทย์จะให้ฝ่ายชายเก็บน้ำเชื้อด้วยการหลั่งด้วยตนเอง ยกเว้นในกรณีที่ฝ่ายชายทำหมันมา มีปัญหาในการหลั่ง หรือท่อนำน้ำเชื้ออุดตัน
ในกรณีที่แพทย์ต้องเก็บอสุจิให้ แพทย์จะเก็บโดยการดูดน้ำเชื้อจากท่อนำน้ำเชื้อ กระเปาะเก็บน้ำเชื้อ หรือที่ลูกอัณฑะโดยตรง ซึ่งจะเป็นการผ่าตัดเล็ก
หลังจากเก็บไข่และน้ำเชื้อแล้ว ทั้งฝ่ายชายที่มาเก็บน้ำเชื้อ และฝ่ายหญิงที่มาเก็บไข่ก็สามารถกลับบ้านได้เลย วันรุ่งขึ้นแพทย์จึงจะนัดมาคุยผลอีกครั้งหนึ่ง4
5.การปฏิสนธิ Fertilization
การปฏิสนธิเป็นขั้นตอนที่จะเกิดขึ้นในห้องปฏิบัติการ ซึ่งการปฏิสนธิด้วยการทำ ICSI นั้น จะทำโดยการนำเข็มที่บรรจุอสุจิ 1 ตัว ที่ผ่านการคัดเลือกมาแล้วว่าสมบูรณ์ที่สุด ฉีดเข้าที่เซลล์ไข่โดยตรง เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิ หากการปฏิสนธิสำเร็จ เซลล์จะเริ่มแบ่งตัวและกลายเป็นตัวอ่อน
หลังจากนั้นนักเพาะเลี้ยงตัวอ่อนจะเพาะเลี้ยงตัวอ่อน (Embryo Culture) ต่อไปจนถึงวันที่ 5 เมื่อตัวอ่อนเข้าสู่ระยะ Blastocyst จึงจะสามารถย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูกได้
การย้ายตัวอ่อน Embryo Transfer
ก่อนการย้ายตัวอ่อน แพทย์จะทำให้ร่างกายของเพศหญิงพร้อมต่อการย้ายตัวอ่อนโดยการให้ยาเตรียมเยื่อบุผนังมดลูก (Medications to prepare the lining of your uterus)เพิ่มฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เพื่อให้เยื่อบุผนังมดลูกก่อตัวขึ้น รองรับการฝังตัวของตัวอ่อน ตัวอย่างยาดังกล่าว เช่น Crinone และ Postmenop
ส่วนขั้นตอนการย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก มี 2 วิธีการ ได้แก่
- การย้ายตัวอ่อนในรอบสด (Fresh Embryo Transfer – ET)
การย้ายตัวอ่อนในรอบสด หมายถึงการย้ายตัวอ่อนที่จะทำพร้อมรอบที่กระตุ้นไข่ เก็บไข่ ซึ่งจะย้ายในวันที่ 5 หลังจากเก็บไข่ โดยการย้ายตัวอ่อนในรอบสดนี้จะทำก็ต่อเมื่อแพทย์เห็นว่าร่างกายของฝ่ายหญิงพร้อมต่อการตั้งครรภ์แล้ว เมื่อตัวอ่อนถึงระยะที่ควรย้ายตัวอ่อน แพทย์จะย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูกทันที
- การย้ายตัวอ่อนในรอบแช่แข็ง (Frozen embryo transfer – FET)
การย้ายตัวอ่อนในรอบแช่แข็ง เป็นการย้ายตัวอ่อนที่จะทำในภายหลัง ในกรณีที่ร่างกายของผู้หญิงยังไม่พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกบางเกินไป หนาเกินไป เจริญผิดปกติ หรือเกิดภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นเกิน (Hyperstimulation)
แพทย์จะนำตัวอ่อนในระยะ 5 วันไปแช่แข็งไว้ก่อน เพื่อเก็บไว้รอเวลาที่ฝ่ายหญิงมีสภาพร่างกายพร้อมตั้งครรภ์ เมื่อพร้อมแล้วจึงละลายตัวอ่อนออกมา และย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูกต่อไป
หลังจากย้ายตัวอ่อนแล้วเป็นเวลา 10 วัน แพทย์จะนัดมาเจาะเลือดตรวจฮอร์โมน Beta-Hcg ในเลือด เพื่อตรวจว่าตั้งครรภ์หรือไม่ อาการหลังใส่ตัวอ่อน หากตั้งครรภ์ ก็จะเหมือนกับการตั้งครรภ์ตามปกติ
การตรวจการตั้งครรภ์
หลังจากย้ายตัวอ่อนแล้วเป็นเวลา 10 วัน แพทย์จะนัดมาเจาะเลือดตรวจฮอร์โมน Beta-Hcg ในเลือด เพื่อตรวจว่าตั้งครรภ์หรือไม่ อาการหลังใส่ตัวอ่อน หากตั้งครรภ์ ก็จะต้องฝากครรภ์ และติดตามการตั้งครรภ์เหมือนกับการตั้งครรภ์ตามปกติ
ข้อดีของการทำ ICSI
- ลดความเสี่ยงทารกในครรภ์ผิดปกติ เพราะการทำ ICSI สามารถตรวจโครโมโซมของตัวอ่อนได้ (Preimplantation Genetic Screening) ก่อนจะย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก เมื่อเลี้ยงตัวอ่อนถึงวันที่ 3 – 5 แพทย์จะตัดเซลล์ตัวอ่อนเล็กน้อยเพื่อนำไปตรวจโครโมโซม
ทั้งนี้การตรวจโครโมโซมไม่ได้จำเป็นต้องทำในทุกกรณี แพทย์จะแนะนำให้ตรวจในผู้หญิงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ผู้ที่ในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคทางพันธุกรรม หรือเคยแท้งตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป เพราะมีโอกาสเกิดโครโมโซมผิดปกติได้มากกว่ากรณีอื่นๆ - มีโอกาสปฏิสนธิมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบอิ๊กซี่กับการทำ IVF การทำ IVF จะปล่อยให้อสุจิผสมกับไข่เอง บางครั้งจึงเกิดปัญหาที่อสุจิไม่สามารถเจาะเพื่อเข้าไปปฏิสนธิในไข่ได้ การทำ ICSI จึงมีโอกาสการปฏิสนธิมากกว่า
- ตัวอ่อนและไข่ สามารถแช่แข็งเก็บไว้ได้นานถึง 10 ปี
- มีโอกาสตั้งครรภ์สูงกว่าวิธีอื่นๆ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับอายุของฝ่ายหญิงด้วย
- ผู้สมรสที่ทำหมันโดยการผูกท่อนำไข่ หรือท่อนำน้ำเชื้อ สามารถทำ ICSI และตั้งครรภ์ได้ ได้โดยไม่ต้องผ่าตัดแก้หมัน
ข้อจำกัดการทำ ICSI
- แม้จะเป็นการปฏิสนธิโดยการใช้อสุจิฉีดโดยตรง แต่ก็มีโอกาสปฏิสนธิไม่สำเร็จเช่นกัน
- มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป (Ovarian hyperstimulation syndrome หรือ OHSS) อาการบาดเจ็บหรือติดเชื้อจากการเก็บไข่ การตั้งครรภ์นอกมดลูก การคลอดก่อนกำหนด และทารกน้ำหนักน้อย เป็นต้น
- มีโอกาสตั้งครรภ์แฝด ที่มีความเสี่ยงการแท้ง และทำให้ทารกในครรภ์น้ำหนักน้อยกว่าปกติ
- มีโอกาสแท้งได้สูงกว่าการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติเล็กน้อย
ทั้งนี้ ข้อจำกัดและความเสี่ยงดังกล่าวจะมีโอกาสเกิดน้อยลงหากทำ ICSI กับแพทย์เฉพาะทางด้านมีบุตรยากที่ประสบการณ์สูง พร้อมด้วยทีมนักวิทยาศาสตร์การเพาะเลี้ยงตัวอ่อนที่มีความสามารถ ในโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน ดังนั้น เมื่อต้องการทำ ICSI ควรเลือกโรงพยาบาลที่ดีที่สุดให้กับตนเอง
ค่าใช้จ่าย
ค่าใช้จ่ายการทำอิ๊กซี่แพงไหม? ICSI ราคาจะสูงกว่าการทำเด็กหลอดแก้ววิธีการอื่นของศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก ที่แนะนำ ประสานงานโดย โรงพยาบาลบีเอ็นเอช รายละเอียดค่าใช้จ่ายแต่ละส่วนสามารถดูรายละเอียดได้ที่ :รายละเอียด Package การทำ ICSI
ปัญหา หรือ ภาวะแทรกซ้อน ที่อาจเกิดขึ้นมีอะไรบ้าง
ภาวะแทรกซ้อนจากการทำ ICSI แม้จะน้อยมากต่อก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทั้งการตั้งครรภ์ ร่างกายของคุณแม่ และทารก โดยปัญหาหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ ได้แก่
- ไข่ในรังไข่อาจเสียหายระหว่างการเก็บไข่หรือการใส่ตัวอ่อน ซึ่งมีโอกาสน้อยมาก น้อยกว่า 2 – 5%
- โครโมโซมทารกผิดปกติ โดยความเสี่ยงจากการทำ ICSI อาจทำให้โครโมโซม X และ Y ผิดปกติได้มากกว่าการท้องตามธรรมชาติถึง 4 เท่า
ทั้งนี้โอกาสเกิดความผิดปกติของโครโมโซมดังกล่าวมีเพียง 0.8% เท่านั้น จึงไม่พบความผิดปกติดังกล่าวได้บ่อยนัก อีกทั้งก่อนการย้ายตัวอ่อนจะมีการตรวจโครโมโซมตัวอ่อน NGS จึงทำให้ทราบความผิดปกติก่อนการฝังตัวอ่อนนั่นเอง
โดยความผิดปกติของโครโมโซม X และ Y ส่งผลให้
- เสี่ยงแท้งมากกว่าปกติ
- ทารกอาจมีความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจที่อาจต้องผ่าตัดรักษา
- ทารกอาจมีปัญหาด้านการเรียนรู้และพฤติกรรม
- เมื่อโตขึ้นถึงวัยเจริญพันธุ์ ทารกอาจเกิดภาวะมีบุตรยากได้
- มีโอกาสตั้งครรภ์แฝดประมาณ 15 – 20% เนื่องจากในขั้นตอนการใส่ตัวอ่อน แพทย์จะใส่ตัวอ่อนมากกว่า 1 ตัวอยู่แล้วเพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ หากตัวอ่อนฝังตัวได้มากกว่า 1 ตัว หรือเกิดความผิดปกติระหว่างการแบ่งเซลล์จนเกิดเป็นแฝดไข่ใบเดียวกัน ก็จะตั้งครรภ์แฝดขึ้นมา
ซึ่งการตั้งครรภ์แฝดนับเป็นความผิดปกติเนื่องจากครรภ์แฝดมีความเสี่ยงมาก ทั้งกับคุณแม่และทารก อีกทั้งยังเสี่ยงแท้งมากกว่าการตั้งครรภ์ปกติอีกด้วย
- เกิดการติดเชื้อระหว่างการเก็บไข่ หรือการใส่ตัวอ่อน แต่โอกาสเกิดน้อยมาก
- การทำ ICSI ทำให้มีโอกาสแท้งมากกว่าปกติ
ทำ ICSI ที่ไหนทำไม ควรประสานงานกับโรงพยาบาล BNH
ทำไมควรทำอิ๊กซี่ ICSI โดยประสานงาน ที่ โรงพยาบาลบีเอ็นเอช? เพราะที่บีเอ็นเอช เรามีศูนย์ประสานงานสำหรับการ รักษาสำหรับผู้ที่มีภาวะมีบุตรยากโดยเฉพา
และนอกจากบริการการทำ ICSI แล้ว ที่ศูนย์ประสานงานที่แนะนำของเรา ยังมีบริการทำ IVF, IUI, การรักษาอวัยวะสืบพันธุ์และระบบฮอร์โมนเพื่อรักษาภาวะมีบุตรยาก, รับฝากครรภ์, และดูแลเด็กๆ ตั้งแต่เป็นทารกจนตลอดชีวิต เพราะเราเป็นโรงพยาบาลที่ดูแลทุกปัญหาสุขภาพ เป็นเพื่อนที่ดูแลสุขภาพคุณตลอดชีวิต
ดูรายละเอียดศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก ที่แนะนำ ประสานงานโดย โรงพยาบาลบีเอ็นเอช :https://wellnesshealth.club
คำถามที่พบบ่อยจากคนไข้
เด็กหลอดแก้วที่เกิดจากวิธี ICSI จะอ่อนแอหรือไม่?
จากงานวิจัย และประสบการณ์ของแพทย์ที่ผ่านมา ไม่ได้มีข้อบ่งชี้ว่าเด็กที่เกิดจากการทำ ICSI จะอ่อนแอหรือ ป่วยง่ายกว่าเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ เด็กที่เกิดมาจะแข็งแรงเหมือนกับเด็กทั่วไป ดังนั้นผู้ที่สนใจทำ ICSI สามารถสบายใจได้ในเรื่องนี้
ทำ ICSI เจ็บหรือไม่
ในการทำ ICSI อาจมีบางขั้นตอนที่จะเจ็บบ้างเล็กน้อย เช่น ในขั้นตอนการกระตุ้นไข่ที่ต้องฉีดยาใต้ผิวหนัง หรือขั้นตอนการเก็บไข่ผ่านช่องคลอด แม้ว่าจะมีการวางยาสลบขณะทำ แต่หลังจากที่เก็บไข่ไปแล้ว อาจจะมีอาการปวดหน่วงๆ เล็กน้อยบริเวณท้องน้อยหรืออุ้งเชิงกราน ซึ่งอาการดังกล่าวจะหายไปเองหลังการเก็บไข่ประมาณ 1 – 2 วัน
การทำ ICSI ใช้เวลานานเท่าไร
การทำ ICSI จะใช้เวลาทั้งกระบวนการประมาณ 3 สัปดาห์ นับตั้งแต่การเริ่มตรวจร่างกาย, ตรวจฮอร์โมนในเลือด, ฉีดยากระตุ้น 7 – 8 วัน, เก็บไข่, ผสมตัวอ่อนด้วยวิธีการ ICSI, และขั้นตอนสุดท้ายคือย้ายตัวอ่อนกลับโพรงมดลูกในอีก 5 วัน
เมื่ออยู่ในช่วงระหว่างการทำเด็กหลอดแก้ว สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่
สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ แต่ต้องระวังในช่วงการกระตุ้นไข่ ช่วงเวลาดังกล่าวสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ แต่ต้องคุมกำเนิดด้วยถุงยางอนามัย เนื่องจากเป็นช่วงที่อาจมีไข่ตก และอาจไข่ตกมากกว่า 1 ใบ หากเกิดการปฏิสนธิจะมีความเสี่ยงเกิดการตั้งครรภ์แฝดได้ ซึ่งการตั้งครรภ์แฝดเป็นการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ปลอดภัยมากนัก เสี่ยงเกิดอาการแทรกซ้อนได้หลายอย่าง
สรุป
การทำ ICSI เป็นการทำเด็กหลอดแก้วที่ให้ผลดีที่สุด มีโอกาสตั้งครรภ์ได้มากที่สุด แต่ก็มีราคาค่อนข้างสูง ผู้ที่สนใจจึงควรเข้ามาเพื่อปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนว่าปัญหามีบุตรยากที่เกิดขึ้นเหมาะแก่การทำ ICSI หรือไม่ พร้อมทั้งหาวิธีการแก้ปัญหามีบุตรยาที่เหมาะสมกับตนเองที่สุดต่อไป